กองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี
ประวัติความเป็นมา
การวิเคราะห์ตัวอย่างทางธรณีโดยวิธีทางฟิสิกส์และเคมี เป็นงานที่ดำเนินการโดยวิศวกรเหมืองแร่ และนักธรณีวิทยาในการตรวจดูชนิดของแร่และหิน ภายหลัง พ.ศ. 2485 มีนักธรณีวิทยาดำเนินการตรวจชนิดของแร่ทางกายภาพ เช่น สี สีผงละเอียด ผลึก แนวแตกเรียบ ความวาว ความแข็ง ถ.พ. ความเหนียว การเรืองแสง คุณสมบัติเกี่ยวกับแม่เหล็ก การทำปฏิกิริยากับกรด การตรวจด้วยเปลวไฟ การหลอมแร่ การเผาในหลอดปิดและเปิด ส่วนงานตรวจและวิเคราะห์แร่ ดำเนินการโดยนักวิทยาศาสตร์ ระยะเริ่มแรกเป็นงานวิเคราะห์แร่ดีบุก และแร่วุลแฟรมซึ่งผลิตจากเหมืองต่างๆ เพื่อต้องการนำผลวิเคราะห์ไปเป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาแร่ และการเก็บค่าภาคหลวง
จากการขยายตัวของกรมทรัพยากรธรณี ทำให้งานวิเคราะห์เดิมได้มีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุง เพิ่มแยกและขยายไปอีกหลายสาขาตามกองต่างๆ ในปี พ.ศ.2532 งานวิเคราะห์ด้านต่างๆ ได้กลับเข้ามารวมกันไว้ในหน่วยงานเดียวกัน โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และวิจัยตัวอย่างแร่ สินแร่ ตะกรัน หิน ดิน ทราย ตะกอนธารน้ำ อัญมณี รัตนชาติ วัตถุทางโบณาณคดี โลหะและโลหะผสม น้ำ และเชื้อเพลิงธรรมชาติ ให้แก่หน่วยงานของรัฐและประชาชนทั่วไป
หลังการปฏิรูประบบราชการ ปี พ.ศ. 2545 งานด้านการวิเคราะห์ของกองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนวิเคราะห์รัตนชาติและธรณีวัตถุ ส่วนวิเคราะห์แร่และหิน และส่วนวิเคราะห์ดินและตะกอนธารน้ำ โดยมีหน้าที่ความรับผิดชอบในการวิเคราะห์ ตรวจสอบ และวิจัยตัวอย่างแร่ สินแร่ หิน ดิน ทราย ตะกอนธารน้ำ อัญมณี รัตนชาติ วัตถุทางโบณาณคดี และน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการพิจารณาขั้นรายละเอียดทางธรณีวิทยาและธรณีเคมี ในด้านการนำไปประกอบการทำแผนที่ธรณีวิทยา การสำรวจหาแหล่งแร่ต่างๆ ทั่วประเทศ การหาบริเวณที่มีศักยภาพทางแร่ แหล่งหินอุตสาหกรรม การตรวจสอบชนิดหินและแร่ในการซื้อขายให้ตรงกับมาตรฐานที่กำหนดไว้ โดยผลการวิเคราะห์ทางกายภาพและทางเคมีสามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบในการคิดภาษีนำแร่เข้าและส่งแร่ออกของกรมศุลกากร และใช้เป็นเกณฑ์ในการคำนวณราคาแร่ในการซื้อขาย เป็นข้อมูลสำคัญประกอบการพิจารณาคดีแร่ของกลาง การตัดสินอัญมณีของกลางในคดีฉ้อโกงของกรมตำรวจ การตรวจวัตถุโบราณของกรมศิลปากร ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจในงานวิเคราะห์แร่และหิน การตรวจสอบแร่และหินของประชาชน นอกจากนี้เครื่องมือของกองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี มีประโยชน์ในงานวิจัยต่างๆ ของกรมทรัพยากรธรณี เช่น การเพิ่มคุณภาพพลอยทับทิมและแซปไฟร์ด้วยกรรมวิธีการใช้ความร้อน กรณีศึกษาจากสาธารณรัฐมาดากัสการ์ มีส่วนร่วมในงานวิจัย เช่น การใช้หินบะซอลต์เพื่อเป็นแหล่งธาตุอาหารเสริมสำหรับงานด้านเกษตรกรรม และการวิจัยการเกิดโคลนพุและการแก้ไขเพื่อฟื้นฟูพื้นที่ทำนาในภาคอีสาน ในพื้นที่นำร่อง บ้านสิบเก้าโปร่ง ตำบลโนนม่วง อำเภอศรีบุญเรือง จังหวัดหนองบัวลำภู รวมถึงการมีส่วนร่วมในโครงการสำรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงภัยจากสารพิษตามธรรมชาติ
ในการบริการเกี่ยวกับการวิเคราะห์ ในปี พ.ศ.2563 กรมทรัพยากรธรณีได้มีการวิเคราะห์ โดยใช้อุปกรณ์เครื่องมือที่ทันสมัย และบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ดังนี้
ส่วนวิเคราะห์รัตนชาติและธรณีวัตถุ
1. เครื่องเอกซเรย์ดิฟแฟรกโทมิเตอร์ (X-ray Diffractometer)
2. เครื่องเอนนียีดีสเปอร์ซีพเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนซ์สเปกโทรมิเตอร์ (Energy Dispersive X-ray Fluorescence Spectrometer)
3. เครื่องฟูเรียร์ทรานส์ฟอร์มอินฟา-เรดสเปกโทรมิเตอร์ (Fourier Transform Infra-red Spectrometer)
4. เครื่องเลเซอร์รามานสเปกโทรมิเตอร์ (Laser Raman Spectrometer)
5. เครื่องตรวจความขาวสว่าง (Brightness)
6. เครื่องชั่งหาค่าความถ่วงจำเพาะ (Specific Gravity Determination Balance)
ส่วนวิเคราะห์แร่และหิน
1. เครื่อง Wavelength dispersive x-ray fluorescence spectrometer; WD-XRF
2. เครื่อง Atomic Absorption Spectrometer; AAS
3. เครื่อง Graphite Furnace-Atomic Absorption Spectrometer; GF-AAS
4. เครื่อง UVVis Spectrometer; UV
ส่วนวิเคราะห์ดินและตะกอนธารน้ำ
1. เครื่อง Inductively Coupled Plasma Optical Emission Spectrometer; ICP-OES
2. เครื่อง Ion Selective Electrode Analyzer; ISE
3. เครื่อง Laser ablation - Inductively Coupled Plasma Mass Spectrometry; LA-ICP-MS
และในปี พ.ศ. 2545 นี้ ได้มีการจัดตั้งส่วนใหม่เป็นการภายในกองวิเคราะห์และตรวจสอบทรัพยากรธรณี คือ ส่วนส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการขึ้นมา โดยในสมัยนั้นส่วนส่งเสริมและสนับสนุนทางวิชาการ ได้มีบทบาทเข้าร่วมโครงการความร่วมมือไทย ลาว งานโครงการสำรวจพื้นที่ที่มีโอกาสเสี่ยงภัยจากสารพิษตามธรรมชาติ และในปี พ.ศ. 2555 ได้มีแผนแม่บทการวิจัยและพัฒนาของกรมทรัพยากรธรณี พ.ศ. 2555 2559
โดยในปี พ.ศ. 2560 ได้มีการจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรณี และแต่งตั้งคณะกรรมการด้านการวิจัยและพัฒนาทรัพยากรธรณีของกรมทรัพยากรธรณีขึ้น มีหน้าที่ความรับผิดชอบ ดังนี้
1. กำกับดูแล ผลการดำเนินการวิจัยและนวัตกรรมของกรมทรัพยากรธรณี และพัฒนาบุคลลากรด้านวิจัยทั้งในและต่างประเทศ
2. ฝึกอบรมวิชาการและสร้างเครือข่ายการเรียนรู้ระดับประเทศและนานาชาติ
3. ศึกษา ค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อยกระดับมาตรฐานงานวิชาการ และนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ เพิ่มมูลค่า หรือสนับสนุนภารกิจกรมทรัพยากรธรณี
4. ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย