: สาเหตุที่ทำให้เกิดแผ่นดินไหว |
---|
: แผ่นดินไหว เป็นภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดจากการสั่นสะเทือนของพื้นดิน อันเนื่องมาจากการปลดปล่อยพลังงานเพื่อระบายความเครียดที่สะสมไว้ภายในโลกออกมาอย่างฉับพลันเพื่อปรับสมดุลย์ของเปลือกโลกให้คงที่ สาเหตุ ของการเกิดแผ่นดินไหวนั้นจัดแบ่งได้ ๒ ชนิด ชนิดที่หนึ่ง เกิดจากการกระทำของมนุษย์ ได้แก่ การทดลองระเบิดปรมาณู การกักเก็บน้ำในเขื่อนและแรงระเบิดของการทำเหมืองแร่ เป็นต้นชนิดที่สองเป็นแผ่นดินไหวจากธรรมชาติ ได้แก่การเคลื่อนตัวของรอยเลื่อนเปลือกโลก (Fault) การเคลื่อนที่ของหินหลอมเหลวใต้ภูเขาไฟที่ใกล้ระเบิด และการตกกระทบผิวโลกของลูกอุกกาบาต เป็นต้น |
: ศูนย์เกิดแผ่นดินไหว และจุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว คืออะไร |
---|
: ศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เป็นจุดเริ่มต้นใต้พื้นดินของการกระจายคลื่นแผ่นดินไหวออกไปทุกทิศทางในรูปทรงกลม และส่งคลื่นผ่านตัวกลาง(ชั้นหิน/ดิน) มาถึงผิวดิน จุดเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว เป็นตำแหน่ง ณ ผิวดินเหนือศูนย์เกิดแผ่นดินไหว ซึ่งจะทำหน้าที่ส่งผ่านคลื่นแผ่นดินไหวออกไปจากจุดนี้เช่นกัน |
: คลื่นจากแผ่นดินไหวมีกี่แบบ คลื่นชนิดไหนที่ตรวจวัดได้ก่อน |
---|
: คลื่นแผ่นดินไหวแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คลื่นภายในโลก และคลื่นผิวโลก คลื่นภายในโลก เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่เดินทางอยู่ภายในโลกแบ่งเป็น ๒ ชนิดตามลักษณะการแกว่งตัวของอนุภาคตัวกลางขณะที่คลื่นเคลื่อนที่ผ่าน ได้แก่ ๑. คลื่นตามยาว หรือคลื่นปฐมภูมิ (Longitudinal or Primary Waves) เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่เคลื่อนที่ออกไปโดยที่อนุภาคของตัวกลางถูกแรงอัด จนสั่น และขยายตัวไปมาเรื่อยๆ ในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนที่ของคลื่น ๒. คลื่นตามขวาง หรือคลื่นทุติยภูมิ (Traverse or Secondary Waves) เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่เคลื่อนที่ออกไปแล้วอนุภาคของตัวกลางถูกแรง Shear ก่อให้เกิดการสั่นในแนวตั้งฉากกับทิศทางการเคลื่อนที่ของคลื่น คลื่นผิวโลก คือ คลื่นความสั่นสะเทือนที่เคลื่อนที่ไปตามผิวโลก หรือขนานไปกับผิวโลก แต่ไม่ลึกนัก แบ่งเป็น ๒ ชนิด ๑. คลื่นเรเลย์ (Rayleigh Waves) เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนที่เคลื่อนที่ไปตามระนาบทำให้อนุภาคตัวกลางสั่นในลักษณะวงรี และค่อยๆ ลดลงเมื่อห่างจากจุดกำเนิด ทำให้อนุภาคเกิดการสั่นในแนวดิ่ง ค้นพบโดย Lord Rayleigh นักฟิสิกส์ชาวอังกฤษ ๒. คลื่นเลิฟ (Love Waves) เป็นคลื่นความสั่นสะเทือนตามขวางที่ไปตามผิวระนาบทำให้อนุภาคเกิดการสั่นในแนวราบ ในทิศทางตั้งฉากกับแนวการเคลื่อนที่ ให้ชื่อตามนักคณิตศาสตร์ชาวอังกฤษผู้ค้นพบชื่อ A.E.H. Love คลื่นตามยาวเป็นคลื่นที่ตรวจวัดได้ก่อน เนื่องจากเคลื่อนที่ได้เร็วกว่าคลื่นชนิดอื่นๆ |
: ขนาดและความรุนแรงแผ่นดินไหว |
---|
: ขนาดแผ่นดินไหว (Magnitude) เป็นปริมาณของพลังงานที่ถูกปลดปล่อยออกมาในรูปของการสั่นสะเทือนที่ส่งผ่านมายังผิวโลก คำนวณได้จากการตรวจวัดค่าความสูงของคลื่นแผ่นดินไหวที่ตรวจวัด ได้ด้วยเครื่องมือตรวจแผ่นดินไหว โดยเป็นค่าปริมาณที่บ่งชี้ขนาด ณ บริเวณศูนย์เกิดแผ่นดินไหว มีหน่วย ริกเตอร์ ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาเมื่อปี ค.ศ. ๑๙๓๕โดย Charles F. Richter แห่งสถาบันเทคโนโลยีแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา ความรุนแรงแผ่นดินไหว (Intensity) แสดงถึงระดับความรุนแรงของเหตุการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น วัด ได้จากปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะเกิด และหลังเกิดแผ่นดินไหว เช่น ความรู้สึกของผู้คน ลักษณะที่วัตถุหรือ อาคารเสียหายหรือสภาพภูมิประเทศที่เปลี่ยนแปลง เป็นต้น มาตราวัดความรุนแรงของแผ่นดินไหว มีการพัฒนาขึ้นมาใช้กันหลายมาตรา แต่ที่นิยมใช้กันที่สุดในสหรัฐอเมริกาในปัจจุบันนี้คือ มาตราเมอร์คัลลี่ที่ปรับปรุงแล้ว (Modified Mercalli (MM) Intensity Scale) ผู้พัฒนาคือ Harry Wood และ Frank Neumann ได้ปรับปรุงขึ้นในปี ค.ศ. ๑๙๓๑ ในประเทศไทยได้ใช้ มาตราเมอร์คัลลี่นี้ ซึ่งมีทั้งหมด ๑๒ อันดับ เรียง ลำดับความรุนแรงแผ่นดินไหวจากน้อยไปมาก |