การสำรวจระยะไกล เป็นเทคนิคการสำรวจข้อมูลพื้นฐานการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน เป็นการศึกษาข้อมูลบริเวณกว้างโดยใช้เทคโนโลยีการสำรวจหลายชนิด เช่น
·
การศึกษาภาพถ่ายดาวเทียมซึ่งเป็นการศึกษาข้อมูลที่ได้จากการถ่ายภาพจากดาวเทียมที่โคจรอยู่รอบโลกข้อมูลที่ได้ไม่สามารถบ่งบอกตำแหน่งหรือชนิดแร่ได้ แต่เป็นข้อมูลโดยอ้อมที่อาจบ่งบอกโครงสร้างหรือชนิดหินที่เหมาะแก่การสะสมตัวของแร่ธาตุได้
·
การศึกษาภาพถ่ายทางอากาศ เป็นการศึกษาข้อมูลที่ได้จากภาพถ่ายทางอากาศจากเครื่องบินที่ระดับความสูงไม่เกิน 1กิโลเมตร เพื่อศึกษาขอบเขตของชนิดหินและโครงสร้างทางธรณีวิทยาที่สัมพันธ์กับการเกิดแร่ เป็นข้อมูลโดยอ้อมเช่นเดียวกับข้อมูลที่ได้จากการแปลความหมายของภาพถ่ายดาวเทียม
·
การศึกษาข้อมูลธรณีฟิสิกส์ทางอากาศ เป็นการศึกษาข้อมูลที่ได้จากการบินสำรวจธรณีฟิสิกส์ ด้วยวิธีการวัดค่าความเข้มสนามแม่เหล็ก ค่าความเข้มของธาตุกัมมันตรังสีหรือความเข้มสนามแม่เหล็กไฟฟ้า ผลที่ได้จากการศึกษามิได้บ่งบอกชนิดของแร่โดยตรง ยกเว้นแร่เหล็กและแร่ยูเรเนี่ยม แต่จะเห็นข้อมูลที่บ่งชี้ว่ามีโครงสร้างและหินที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการเกิดของแหล่งแร่หรือไม่
ปัจจุบันกรมทรัพยากรธรณี มีข้อมูลธรณีฟิสิกส์ทางอากาศทั่วประเทศที่ได้จากการบินสำรวจธรณีฟิสิกส์ ในปี 2527-2530 ซึ่งจำหน่ายแก่หน่วยงานรัฐบาลและเอกชนทั่วไป
ข้อมูลที่ได้จากการศึกษาภาพถ่ายดาวเทียม ข้อมูลการสำรวจธรณีฟิสิกส์ทางอากาศและภาพถ่ายทางอากาศ จะนำมาวิเคราะห์และแปลความหมายร่วมกัน เพื่อหาบริเวณที่น่าสนใจว่าจะมีแหล่งแร่สะสมตัวอยู่เพื่อการสำรวจติดตามผลภาคพื้นดินต่อไป