กรมทรัพยากรธรณี

คำจำกัดความเกี่ยวกับแร่

คำจำกัดความตามกฎหมาย (ตามพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. 2560 มาตรา 4)

แร่

หมายความว่า ทรัพยากรธรณีที่เป็นอนินทรียวัตถุ มีส่วนประกอบทางเคมีกับลักษณะทางฟิสิกส์แน่นอนหรือเปลี่ยนแปลงได้เล็กน้อยไม่ว่าจะต้องถลุงหรือหลอมก่อนใช้หรือไม่ และหมายความรวมตลอดถึงถ่านหิน หินน้ำมัน หินอ่อน โลหะและตะกรันที่ได้จากโลหกรรม น้ำเกลือใต้ดิน หินตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นหินประดับหรือหินอุตสาหกรรม และดินหรือทรายตามที่กฎกระทรวงกำหนดเป็นดินอุตสาหกรรมหรือทรายอุตสาหกรรม แต่ไม่รวมถึงน้ำ หรือเกลือสินเธาว์

การบริหารจัดการแร่

หมายความว่า การจัดการและการอนุรักษ์ทรัพยากรแร่ที่มีอยู่ตามธรรมชาติ การสำรวจแร่ การทำเหมือง การทำเหมืองใต้ดิน การขุดหาแร่รายย่อย การร่อนแร่ การประกอบธุรกิจแร่ การแต่งแร่ และการประกอบโลหกรรม รวมทั้งการควบคุมกำกับดูแลการดำเนินการเรื่องดังกล่าว

สำรวจแร่

หมายความว่า การเจาะหรือขุดหรือกระทำด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด เพื่อให้รู้ว่าในพื้นที่มีแร่อยู่หรือไม่เพียงใด

ทำเหมือง

หมายความว่า การกระทำแก่พื้นที่ไม่ว่าจะเป็นที่บกหรือที่นํ้าเพื่อให้ได้มาซึ่งแร่ด้วยวิธีการอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด แต่ไม่รวมถึงการขุดหาแร่รายย่อยและการร่อนแร่

คำจำกัดความตามแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่

การสำรวจทรัพยากรแร่

หมายถึง กระบวนการเสาะแสวงหาตำแหน่งหรือบริเวณที่คาดว่าจะมีแร่ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจสะสมตัวอยู่อย่างเป็นระบบ โดยใช้วิธีการสำรวจธรณีวิทยา ธรณีวิทยาแหล่งแร่ ธรณีเคมี และธรณีฟิสิกส์

พื้นที่ศักยภาพแร่

หมายถึง พื้นที่ใด ๆ ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นแหล่งแร่ โดยมีหลักฐานบ่งชี้จากข้อมูลการสำรวจทรัพยากรแร่

ปริมาณทรัพยากรแร่

หมายถึง ปริมาณแร่ที่มีศักยภาพในการพัฒนานำมาใช้ประโยชน์ได้ แต่ยังไม่มีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจ หรือมีการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจแล้วแต่ยังไม่คุ้มค่าในขณะที่ทำการประเมิน

ปริมาณแร่สำรอง

หมายถึง ปริมาณแร่ที่สามารถพัฒนามาใช้ประโยชน์ได้อย่างคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ โดยมีความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ เทคโนโลยี สังคม สิ่งแวดล้อม และกฎระเบียบต่าง ๆ

แหล่งแร่สำรอง

หมายถึง บริเวณพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่แหล่งแร่ และหรือพื้นที่แหล่งสินแร่ที่พบจากการสำรวจทรัพยากรแร่ที่ทราบปริมาณทรัพยากรแร่หรือปริมาณแร่สำรองในพื้นที่นั้น ๆ

พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมือง

หมายถึง พื้นที่ศักยภาพแร่ที่มีหลักฐานบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งแร่

พื้นที่หรือชนิดแร่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้

หมายถึง พื้นที่หรือชนิดแร่ใดที่อยู่ในพื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมือง เป็นพื้นที่ที่มีแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจ แต่ไม่ได้ประกาศเป็นเขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง เนื่องจากมีนโยบายหรือแผนแม่บทการบริหารจัดการแร่ให้สมควรสงวนหรืออนุรักษ์ไว้ก่อน

เขตแหล่งแร่เพื่อการทำเหมือง

หมายถึง พื้นที่ที่มีศักยภาพในการทำเหมืองที่มีหลักฐานและข้อมูลบ่งชี้ว่าเป็นแหล่งแร่อุดมสมบูรณ์และมูลค่าทางเศรษฐกิจสูง ได้ผ่านการประเมินปัจจัยเบื้องต้นของการประเมินคุณค่าทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละพื้นที่ การประเมินสถานการณ์และพิจารณาขีดจำกัด ความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์พื้นที่ ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน รวมทั้งปัจจุบันมีเทคโนโลยีที่จะใช้ในการทำเหมืองและมาตรการป้องกันผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนที่เหมาะสมเพื่อการอนุญาตทำเหมือง

ความคุ้มค่าในทางเศรษฐกิจ

หมายถึง การเปรียบเทียบมูลค่าทางเศรษฐกิจจากการทำเหมืองแร่มากกว่าการสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และมีการผลิตแร่ขั้นต่ำในเชิงพาณิชย์และสามารถผลิตแร่ได้ต่อเนื่องตลอดโครงการ

แนวพื้นที่กันชนการทำเหมือง

หมายถึง พื้นที่ที่อยู่ระหว่างกิจกรรมการทำเหมืองกับชุมชน เพื่อช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดจากกิจกรรมต่าง ๆ ของการทำเหมืองกับชุมชน โดยการวัดระยะห่าง จะวัดจากระยะที่ใกล้ที่สุดของขอบเขตของแต่ละกิจกรรมการทำเหมืองตามที่ระบุในแผนผังโครงการทำเหมืองไปจนถึงตำแหน่งของบ้านเรือนหรือสิ่งปลูกสร้างที่ผู้อยู่อาศัยประจำซึ่งอาจได้รับผลกระทบ

ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน

หมายถึง ข้อมูลพื้นฐานด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนในพื้นที่โดยรอบและใกล้เคียงเขตเหมืองแร่ ก่อนและหลังการทำเหมือง

งานจริยธรรม