การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศในปัจจุบันมีมีความจำเป็นที่จะต้องใช้ประโยชน์จากแร่ต่างๆมากมาย แต่ที่ผ่านมาการใช้แร่อย่างไม่รู้คุณค่า ขาดความระมัดระวัง ไม่มีนโยบายหรือแนวทางการบริหารจัดการที่ชัดเจน มาตรการกำกับดูแลที่เข้มงวดไม่เพียงพอ ผลกระทบทางลบที่จะตามมาก็คือความร่อยหรอของแร่และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ รวมถึงความขัดแย้งในสังคมจากการใช้แร่ก็มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น คณะรัฐมนตรีจึงได้เห็นชอบในการกำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ เพื่อกำหนดยุทธศาสตร์ นโยบาย และแผนการบริหารจัดการทรัพยากรแร่ของประเทศในภาพรวมที่เหมาะสม มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลต่อประโยชน์ของประเทศ และได้ประกาศออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ ๑๕ พฤศจิกายน ๒๕๕๙ โดยมอบหมายให้อธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นกรรมการและเลขานุการ และอธิบดีกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่เป็นกรรมการและเลขานุการร่วม
ต่อมาเมื่อพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๖๐ จึงได้ยกเลิกระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๕๙ โดยพระราชบัญญัติแร่ พ.ศ. ๒๕๖๐ กำหนดให้มีคณะกรรมการนโยบายบริหารจัดการแร่แห่งชาติ ซึ่งมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่บัญญัติไว้ในหมวด ๑ นโยบายในการบริหารจัดการแร่