กรมทรัพยากรธรณี

ไพไรต์ (Pyrite)

Pyrite

ชื่อแร่

มาจากภาษากรีก “pyr” แปลว่า ไฟ (fire) เพราะเมื่อนำไปตีกระทบกับเหล็กกล้าจะเกิดประกายไฟ สีแร่คล้ายทองมากจนทำให้ผู้พบเห็นเข้าใจผิดบ่อย ๆ จึงมีฉายาว่า “ทองคนโง่” (fool’s gold)

คุณสมบัติทางฟิสิกส์

ผลึกอยู่ในระบบสามแกนเท่า พบมากเป็นผลึกรูปลูกบาศก์ ซึ่งผิวหน้าผลึกมักมีร่องขนาน หรืออาจเกิดในรูปแบบคล้ายลูกตะกร้อ นอกจากนี้ พบเกิดเป็นมวล เป็นมวลเม็ด หรือเป็นก้อนกลม รูปไต รูปหินย้อย สีทองเหลือง สีผงสีดำ ออกเขียวหรือน้ำตาล ความแข็ง 6-6.5 เปราะ ความถ่วงจำเพาะ 5.02 ทึบแสง วาวแบบโลหะเป็นเงาวับ รอยแตกแบบก้นหอยหรือขรุขระ แนวแตกเรียบค่อนข้างชัดเจน

คุณสมบัติทางเคมี

สูตรเคมี FeS2 มี Fe 46.6% S 53.4% อาจจะมีทองแดง โคบอลต์ นิกเกิล อาร์เซนิก และทองคำปนอยู่ด้วย เป็นพหุสัณฐานกับแร่มาร์คาไซต์ ต่างกันที่โครงสร้าง ระบบผลึก และรูปผลึก เผาด้วยเปลวสีน้ำเงินจะไล่ SO2 ออกมา ละลายในกรดดินประสิวเข้มข้น แต่ถ้าต้มกรดจึงจะได้กำมะถันแยกออกมา

ลักษณะเด่นและวิธีตรวจ

ผลึกรูปลูกบาศก์เด่นชัดมาก แต่มักมีมุมตัดจนเกิดเหลี่ยมได้มากมายคล้ายลูกตะกร้อ สีคล้ายโลหะทองเหลือง ต่างจากคาลโคไพไรต์ตรงที่สีซีดกว่าและแข็งกว่า ต่างจากมาร์คาไซด์ตรงที่สีเข้มกว่าและรูปผลึกต่างกัน ต่างกับทองคำตรงที่แข็งกว่าและเปราะ ส่วน สีผงสีดำออกเขียว ทดลองละลายในกรดดินประสิว แร่ที่มีโครงสร้างหรือรูปผลึกเหมือนแร่ไพไรต์ ได้แก่ โคบอลไทต์ แต่ต่างกันที่แร่โคบอลไทต์มีสีเงิน และแนวแตกเรียบต่างกัน

การเกิด

เป็นแร่ซัลไฟด์ที่พบได้แพร่หลายที่สุด เป็นแร่ที่เกิดทั้งที่อุณหภูมิต่ำหรืออุณหภูมิสูง แต่แหล่งแร่ใหญ่ ๆ มักเกิดที่อุณหภูมิสูง เกิดเป็นสายแร่ร่วมกับแร่ซัลไฟด์อื่น ๆ เช่น คาลโคไพไรต์ สฟาเลอไรด์ กาลีนา เป็นแร่รองในหินอัคนี เกิดตกผลึกแยกตัวออกไปจากหินหนืด นอกจากนี้ ยังเกิดแบบแหล่งแร่แปรสัมผัสและเกิดเป็นแร่ปฐมภูมิหรือทุติยภูมิอยู่ในหินตะกอน

แหล่ง

ประเทศไทย นับว่าเป็นแร่ธรรมดาที่สุดชนิดหนึ่ง พบอยู่มากมายหลายแห่ง เช่น ที่จังหวัด สงขลา ฉะเชิงเทรา นครราชสีมา เพชรบูรณ์ และแพร่ แหล่งใหญ่ ๆ คือ ที่อำเภอท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช และที่อำเภอบันนังสตาร์ จังหวัดยะลา

ต่างประเทศ แหล่งที่สำคัญที่ประเทศจีน ฟินแลนด์ รัสเซีย บราซิล และเกาหลีเหนือ นอกจากนี้ พบที่ประเทศสเปน โปรตุเกส อิตาลี เยอรมนี ฝรั่งเศส อังกฤษ สวีเดน นอร์เวย์ สหรัฐอเมริกา คาซัคสถาน และเปรู เป็นต้น

ประโยชน์

เป็นสินแร่กำมะถันที่สำคัญ ในบางแหล่งของโลกมักจะทำเหมืองแร่นี้เพื่อเอาทองคำกับทองแดงที่เกิดปนอยู่ แต่ส่วนมากใช้ประโยชน์เพื่อทำกรดกำมะถันซึ่งเป็นกรดตั้งต้นที่จะนำไปผลิตกรดอื่น ๆ และ copperas (ferrous sulfate) ซึ่งใช้ในการทำสีย้อมและการทำหมึก ทำยารักษาเนื้อไม้และยาฆ่าเชื้อโรค จะใช้เป็นแหล่งสินแร่เหล็กก็เฉพาะในประเทศที่หาแหล่งเหล็กออกไซด์ไม่ได้เท่านั้น อาจใช้เป็นรัตนชาติซึ่งขายในชื่อว่า “มาร์คาไซต์” ด้วย